พัน บุนนาค
ท่านผู้หญิง พัน | |
---|---|
เกิด | พ.ศ. 2364 อาณาจักรรัตนโกสินทร์ |
ถึงแก่กรรม | 21 มิถุนายน พ.ศ. 2430 (66 ปี) อาณาจักรสยาม |
สัญชาติ | สยาม |
คู่สมรส | สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) |
บิดา | พระยาศรีอรรคราชนารถภักดี (เมือง) |
มารดา | บัว |
ท่านผู้หญิงพัน[1] ลางแห่งสะกดว่า พรรณ์[2] (พ.ศ. 2364 – 21 มิถุนายน พ.ศ. 2430) เป็นภรรยาเอกคนหนึ่งของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
ประวัติ
[แก้]ท่านผู้หญิงพันเกิดราว พ.ศ. 2364[2] เป็นธิดาของพระยาศรีอรรคราชนารถภักดี (เมือง) ต้นสกุลบุรานนท์[1][3] กับมารดาชื่อบัว[1][2] และเป็นหลานสาวของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ซึ่งสืบเชื้อสายจากเฉกอะหมัด ขุนนางแขกเจ้าเซ็นแต่ยุคกรุงเก่า[4] ท่านสมรสกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งทั้งคู่เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน[5] ในงานเขียนของแอนนา ลีโอโนเวนส์ สตรีชาวสหราชอาณาจักร ซึ่งเข้ามาถวายงานเป็นพระอาจารย์ในราชสำนักสยาม ระหว่างปี พ.ศ. 2405-2410 ได้กล่าวถึงเรื่องการสมรสของทั้งคู่นี้ไว้ว่า "...เขาแต่งงานกับเธอหลังเลิกรากับคู่ชีวิตที่อยู่ร่วมกันมาหลายปี..."[6] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งให้เธอเป็น ท่านผู้หญิง[2] ท่านผู้หญิงพันมีน้องสาวร่วมอุทรคนหนึ่งชื่อ หยาด เป็นอดีตภรรยาของนายรักษ์ภูวนารถ (หยอด บุนนาค) หลังสามีถึงแก่กรรมจึงเข้ามาเป็นภรรยาอีกคนของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ร่วมกันกับท่านผู้หญิงพัน[1][2]
แอนนา ลีโอโนเวนส์ อธิบายถึงบุคลิกลักษณะของท่านผู้หญิงพันไว้ว่า "คุณหญิงพันไม่ใช่ทั้งคนสวยหรือสง่างาม แต่เป็นแม่บ้านแม่เรือนและอารมณ์เย็นที่สุด ตอนเจอกันครั้งแรกเธอน่าจะอายุราว 40 ปี ตัวล่ำหนา ผิวคล้ำ เสน่ห์เดียวของเธอคือสายตากับวาจาที่อ่อนโยน...คุณหญิงพันรักดอกไม้เป็นชีวิตจิตใจซึ่งเธอถือว่าเป็นลูกรัก"[6][7] และยังเป็นสตรีผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมบรรดาอนุภรรยาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ทุกคน "...สุภาพสตรีผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในครัวเรือนท่านมหาเสนาบดีมีความปรานีต่อบรรดาสาวน้อยในฮาเร็มสามีเธอ เธอใส่ใจต่อความเป็นอยู่ของพวกนางอย่างฉันมิตรที่สุด ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพวกนางอย่างผาสุกเหมือนแม่กับลูกสาว ต่างไว้เนื้อเชื่อใจกัน และมักแก้ต่างให้พวกนางกับสามี ผู้ที่เธอต้องอาศัยการโน้มน้าวเชิงบวกอย่างละเอียดรอบคอบ"[6][7] และยังกล่าวอีกว่า ท่านผู้หญิงพันจัดการรับบุตรของสามีที่ไม่ยอมรับเพราะเป็นบุตรที่เกิดกับอดีตภรรยามาเป็นบุตรบุญธรรม ด้วยเกิดความเห็นอกเห็นใจในความผิดพลาดของภรรยาเก่า และทดแทนความรวดร้าวว่างเปล่าของตัวท่านเอง แอนนาชื่นชมอีกว่า ท่านผู้หญิงพันคือผู้ร้อยรัดความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับบุตรในสายเลือด ที่แม้จะไม่ใช่บุตรแท้ ๆ ของท่านผู้หญิงก็ตาม อันเป็นสายใยความผูกพันที่ละเอียดอ่อนแต่ไม่เปราะบาง[8]
ท่านผู้หญิงพันเคยกล่าวอุทานเชิงเยาะเย้ยว่า "โถพ่อคุณ พ่อจะอยู่ไปได้สักกี่วัน" กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งกำลังประชวรด้วยไข้ป่า ในงานพระราชพิธีสรงน้ำพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงพระประชวรและเสียพระราชหฤทัยจนไม่สามารถเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง เหตุที่ท่านผู้หญิงพันกล้ากล่าวกับเจ้านายชั้นสูงได้เช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังไม่ทรงมีพระราชอำนาจเต็มที่ช่วงต้นรัชกาล[7]
ท่านผู้หญิงพันมีความชราภาพ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2430 เมื่ออายุ 66 ปี (ราชกิจจานุเบกษาระบุว่าเมื่ออายุ 69 ปี)[9] พระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2440 ส่วนเรือนทรงจัตุรัสและครัวของท่านผู้หญิงพันถูกรื้อไปและได้แปรสภาพเป็นสถานศึกษาตามความประสงค์ของท่าน เพราะท่านไม่มีบุตร ปัจจุบันที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 ลำดับสกุลเก่าบางสกุล ภาคที่ 3 สกุลเฉกอะหมัด ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (PDF). 2473. p. 1, 33. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-07-31. สืบค้นเมื่อ 2022-07-31.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 เครือญาติสกุลบุนนาค ลำดับแต่พระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม บุนนาค) (PDF). พระนคร: การพิมพ์พาณิชย์. 2497. p. 33.
- ↑ เครือญาติสกุลบุนนาค ลำดับแต่พระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม บุนนาค) (PDF). พระนคร: การพิมพ์พาณิชย์. 2497. p. 13.
- ↑ "ราชินิกุล". ชมรมสายสกุลบุนนาค. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-07. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 5.0 5.1 "ถิ่นฐานและบ้านเรือนของสกุลบุนนาค". ชมรมสายสกุลบุนนาค. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-29. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 6.0 6.1 6.2 ""ฮาเร็ม" ของ "เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์" จากบันทึกแหม่มแอนนา จริงหรือที่สภาพ "น่าเวทนานัก"". ศิลปวัฒนธรรม. 19 มกราคม 2565. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 7.0 7.1 7.2 "เมื่อภรรยาท่านช่วง…กล่าวเย้ยรัชกาลที่ 5". ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน (Matichon Academy). สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ลีโอโนเวนส์, แอนนา แฮร์เรียต (เขียน), สุภัตรา ภูมิประภาสและสุภิดา แก้วสุขสมบัติ (แปล). อ่านสยามตามแอนนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562, หน้า 58-59
- ↑ "ข่าวตาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 5 (ตอน 11): หน้า 112. 2 สิงหาคม 1888. สืบค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2021.